เข้าใจ... แต่ไม่อยากดู

แหล่งที่มา: Anthony Rosset, Unsplash
ถ้าไม่พูดถึงค่าใช้จ่ายทางอ้อมอย่างค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต หรือกระทั่งค่าโทรศัพท์มือถือ! เราก็คงคุ้นเคยและรู้กันดีอยู่แล้วทุกคนว่า เว็บไซต์ต่างๆ ที่ดูกันอยู่ทุกวันนั้นล้วนแล้วแต่ให้บริการฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย (จนกว่าเราจะเกิดอยากเข้าถึงอะไรที่ “พรีเมียม” ในบางเว็บ)
แต่โลกนี้มีอะไรฟรีจริงหรือ คาสิโนออนไลน์ JackpotCity ขอตอบตรงนี้เลยว่าไม่ เพราอย่างเว็บไซต์ต่างๆ นั้น แม้พูดอย่างกว้างๆ แล้วในฝั่งผู้ใช้บริการถือว่าเข้าได้ฟรีๆ แต่อย่างไรเสียในฝั่งของผู้ให้บริการก็ต้องมีต้นทุน และผู้ผลิตเว็บไซต์ต่างๆ ก็คงไม่ใช่องค์กรการกุศลที่จะให้คนมาใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือต่อให้เป็นองค์กรการกุศลยังมีต้นทุนในการบริหารจัดการดำเนินการทั้งหลาย เว็บไซต์ต่างๆ เองก็เป็นเช่นนั้น การจะให้เว็บไซต์หนึ่งๆ ดำรงอยู่ได้ การมีรายได้มาหล่อเลี้ยงในทางใดทางหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย
ดังนั้น หนทางหนึ่งที่หลายเว็บไซต์ใช้กันก็คือโมเดลการหารายได้แบบที่ใช้กันมาก่อนในโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งนั่นก็คือการรับโฆษณานั่นเอง
แม้ทุกวันนี้ที่การรับชมคลิปวิดีโอออนไลน์จะเป็นที่นิยมจนเราคงคุ้นเคยกับวิดีโอโฆษณาที่เล่นก่อนเข้าคลิป หรือเล่นคั่นกลางระหว่างคลิป แต่โฆษณาแบบหนึ่งที่อยู่คู่กับอินเทอร์เน็ตมานานก็คือโฆษณาในลักษณะของ “แบนเนอร์” ที่เป็นภาพให้เราคลิกดูได้
รูปด้านบนคือแบนเนอร์โฆษณาทางอินเทอร์เน็ตชิ้นแรกของโลก ที่บริษัท AT&T ซื้อพื้นที่บนเว็บไซต์ HotWired.com มาโฆษณาให้ตัวเองในปี ค.ศ. 1994 หรือก็คือเมื่อ 27 ปีที่แล้ว แน่นอนว่าเห็นแล้วหลายคนคงร้องว่าเชยระเบิด เช่นเดียวกับที่หลายคนคงตะโกนว่าคลาสสิก! แต่ไม่ว่าจะอย่างไร โฆษณาในลักษณะแบนเนอร์เช่นนี้ก็อยู่คู่อินเทอร์เน็ตมาจนทุกวันนี้ และพัฒนาจากการเป็นแค่ภาพฝังอยู่บนพื้นเว็บมาเป็นปอปอัปที่ลอยขึ้นมา และบางทีก็บังคับกลายๆ ให้เราต้อง “กดปิด” เสียก่อนจึงจะดูเนื้อหาที่ต้องการได้ แต่ในขั้นตอนของการกดปิดเพื่อเข้าชมเนื้อที่เราต้องการนี่เองที่หลายเว็บก็มีลูกเล่นแพรวพราว บางทีมีปุ่มหน้าตาคล้ายกากบาทที่ใครเห็นก็ต้องบอกว่ากดแล้วปิด แต่กลับเป็นปุ่มหลอกที่กดแล้วกลายเป็นเราคลิกโฆษณาไป (ของจริงมันอยู่ที่คำว่า close!) ซึ่งถ้าอารมณ์ดีอยู่ก็ถือว่าได้ชิงไหวชิงพริบกัน แต่ถ้าอารมณ์เสียอยู่ก็อาจพาลโมโหไม่ดงไม่ดูเนื้อหาหน้านั้นกันไปเลย (และอะไรแบบนี้ ต่อให้มีอุปกรณ์ที่ดีก็ไม่ได้ช่วยอะไร)
แน่นอนว่าแบนเนอร์โฆษณาเหล่านี้นี่เองที่เป็นช่องทางหลักในการหารายได้ของหลายๆ เว็บไซต์ แต่ทีนี้ ก็คงไม่ใช่ทุกเว็บไซต์ที่เป็นของดีในดวงใจจนทำให้เรายินดีที่ได้เห็นโฆษณาเพราะถือว่าจะช่วยให้เว็บอยู่ต่อไป เพราะบางเว็บนั้น เราก็เพียงบังเอิญตามลิงก์มาจากที่อื่นเพราะเห็นคร่าวๆ ว่ามีเนื้อหาน่าสนใจ ซึ่งพอเป็นแบบนั้น แบนเนอร์พวกนี้ก็คงกลายเป็นเรื่องกวนใจที่แม้เราจะเข้าใจแต่ก็ไม่อยากดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทำให้เราต้องวัดดวงในการกดปิดว่าชีวิตจะราบรื่นหรือไม่
ดังนั้น วันนี้เราจึงจะพาไปรู้จักกับแอปพลิเคชันที่ใช้ปิดกั้นโฆษณา หรือเรียกง่ายๆ ว่าแอปบล็อกโฆษณา และจะเน้นไปที่แอปเหล่านี้ซึ้งมีให้บริการบนโทรศัพท์มือถือ
ไปดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง!

แหล่งที่มา: David Grandmougin, Unsplash
AdBlock Plus (Android และ iOS)
AdBlock Plus น่าจะเป็นแอปบล็อกโฆษณาที่แทบทุกคนจะคุ้นเคยกันดี เพราะเป็นแอดออนบล็อกโฆษณาสำหรับเว็บเบราว์เซอร์ที่เรียกได้ว่าเป็นของสามัญประจำเครื่อง และเมื่อปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตในโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นความปกติใหม่อย่างหนึ่งในชีวิต AdBlock Plus ก็มีให้บริการบนมือถือด้วยเช่นกัน โดยบน Android จะชื่อ AdBlock Browser ซึ่งเป็นเบราว์เซอร์ที่จะช่วยปิดกั้นโฆษณาต่างๆ ให้เรา ในขณะที่บน iOS จะชื่อว่า AdBlock Plus app ซึ่งเจ้าตัวนี้จะช่วยบล็อกโฆษณาเมื่อใช้เว็บเบราว์เซอร์ Safari แต่ก่อนใช้งานต้องมีการตั้งค่าเพิ่มเติมนิดหน่อย
AdGuard (Android และ iOS)
AdGuard เป็นตัวบล็อกโฆษณาอีกตัวที่ได้รับความนิยมทั้งบน Windows และ Mac เพราะสามารถกำหนดค่าได้ในระดับสูง สามารถช่วยรักษาความเป็นส่วนตัวด้วยการบล็อกไม่ให้มีการติดตามการใช้งานของเรา แถมยังมี Parental Control ที่ผู้ปกครองใช้ช่วยปิดกั้นไม่ให้บุตรหลานที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ได้ด้วย AdGuard บน Android จะช่วยบล็อกโฆษณาในแอปและในเกม แต่ในเรื่องการติดตั้งนั้น ต้องติดตั้งจากเว็บไซต์ของผู้พัฒนา ไม่ใช่จาก Google Play Store แบบแอปอื่นๆ ส่วนบน iOS นั้นโหลดได้จาก App Store และใช้งานร่วมกับเว็บเบราว์เซอร์ Safari
Firefox Focus (Android, iOS)
Firefox คงเป็นหนึ่งในเว็บเบราว์เซอร์อีกตัวที่หลายคนคุ้นเคยกันดี และเป็นหนึ่งในเว็บเบราว์เซอร์ที่ได้รับความนิยมเคียงคู่มากับ Google Chrome ในยุคที่ Internet Explorer เริ่มเสื่อมความนิยมและมีผู้พัฒนาเว็บเบราว์เซอร์ตัวอื่นๆ มาให้เลือกใช้
Firefox Focus เป็นเว็บเบราว์เซอร์อีกตัวในตระกูล Firefox ของ Mozilla ใช้งานได้ทั้งบน Android และ iOS เป็นเบราว์เซอร์ที่มุ่งรักษาความเป็นส่วนตัวให้ผู้ใช้งาน เพราะนอกจากจะช่วยบล็อกโฆษณาและช่วยทำเรื่องทั่วไปอย่างเคลียร์คุกกี้และประวัติการใช้งานแล้ว ก็ยังช่วยป้องกันการติดตามการใช้งาน ป้องกันการวิเคราะห์การใช้งาน ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการเปลี่ยนไปใช้โหมด “stealth” นอกจากนี้ ตัวเบราว์เซอร์ยังช่วยเร่งความเร็วในการใช้งานด้วย
1Blocker X (iOS เท่านั้น)
1Blocker X ตัวนี้มีให้ใช้บน iOS เท่านั้น (และ iPad ด้วย) มาพร้อมกฎการบล็อกที่มากกว่า 115,000 ข้อ ฟังอย่างนี้แล้วอย่าเพิ่งรีบกังวลว่าการใช้งานจะวุ่นวาย เพราะกฎเหล่านั้นสามารถปรับแต่งได้โดยง่ายแบบที่ไม่จำเป้นต้องมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก็ทำได้ เพราะโดยมากแล้วก็แค่เลือกว่าจะเปิดหรือปิด จะบล้อกหรือไม่บล็อกเท่านั้น
โดยค่าเริ่มต้นเมื่อโหลดมาใช้ 1Blocker X จะบล็อกให้แต่โฆษณา ทว่าตัวแอปจะมีให้เลือกบล้อกได้อีกหลายหมวดหมู่ แถมแต่ละหมวดหมู่ก็มีตัวเลือกแยกย่อยไปอีก
นอกจากนี้ ในการทำงาน 1Blocker X จะไม่รอให้เว็บเบราว์เซอร์ดาวน์โหลดหน้าเว็บไซต์แล้วค่อยบล็อกเนื้อหา แต่จะบอกเว็บเบราว์เซอร์ที่ทำงานร่วมกันอย่าง Safari รู้ล่วงหน้าว่าต้องการบล็อกอะไรบ้าง ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการทำงานไปได้เป็นอย่างดี
Opera (Android, iOS)
Opera เป็นอีกชื่อที่หลายคนคุ้นหูและคุ้นตา เพราะก็เช่นเดียวกันกับ Firefox คือเป็นเว็บเบราว์เซอร์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกที่มากกว่าแค่ Internet Explorer ของไมโครซอฟท์
ในด้านของการบล็อกโฆษณานั้น Opera เป็นเว็บเบราว์เซอร์ที่มีฟรเจอร์การบล็อกโฆษณาติดตั้งมาแล้วในตัว ทำให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดส่วนเสริมอะไรมาเพิ่มเติมแถมยังมีฟีเจอร์ต่างๆ ที่ช่วยรักษาความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นบริการ VPN แบบไม่จำกัดที่มีมาให้พร้อมตัวเบราว์เซอร์ โหมดการท่องเว็บไซต์แบบไม่ระบุตัวตน (incognito mode) และถ้าเราเจอลิงก์หรือหน้าเว็บที่น่าสงสัย ก็จะมีการเตือนว่าอาจมีมัลแวร์หรือเป็นเว็บไซต์ที่หลอกลวงเพื่อฉ้อโกงผู้ใช้งานด้วย
Opera มีให้ใช้บริการทั้งบน Android และ iOS โดยบน Android นั้นเรียกได้ว่ามีทุกอย่างแบบเดียวกับเวอร์ชันเดสก์ท็อปเลย
สรุป
ในช่วงที่ต้องทำงานจากที่บ้าน (work from home) กันแบบนี้ การใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นก็คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนว่าการท่องอินเทอร์เน็ตอย่างสบายใจแถมปลอดภัยก็คงเป็นอะไรที่หลายคนต้องการ
ที่ยกมานี้นั้นก็เป็นแค่ตัวอย่างบางส่วนของแอปบล็อกโฆษณาที่คนใช้กัน ซึ่งเมื่อทดลองใช้งานจริงแล้วแต่ละแอปก็คงเหมาะกับแต่ละคนต่างกันไป ทว่า แม้จะมีแอปเพื่อช่วยบล็อกโฆษณาแล้ว แต่ถ้าเราชอบเว็บไซต์ไหนที่ให้บริการฟรีโดยมีรายได้เฉพาะจากการโฆษณา และเราอยากสนับสนุนให้เว็บไซต์นั้นอยู่ให้เราใช้ไปนานๆ ก็ปล่อยให้โฆษณาบนเว็บไซต์นั้นๆ ทำงานของมันไปดีกว่า เพราะว่าแอปบล็อกโฆษณาทั้งหลายนั้นก็อนุญาตให้เราเลือกได้ว่าโฆษณาบนเว็บไหนจะต้องหายไปหรือได้ไปต่อ